fbpx
วันจันทร์, 30 กันยายน 2567

เทคนิค อ่าน หนังสือ ให้ จำ แม่นขึ้น เข้าใจมากขึ้น

เทคนิค อ่าน หนังสือ ให้ จำ แม่นขึ้น เข้าใจมากขึ้น :

แชร์ไอเดียสำหรับวัยรุ่น อ่านหนังสือสอบ

เทคนิค อ่าน หนังสือ ให้ จำแม่นขึ้น เข้าใจมากขึ้น

ครั้งนี้ผมจะขอลองสื่อสารเพื่อเป็นประโยชน์กับวัยเรียน วัยรุ่นกันสักนิดนึง เผื่อจะช่วยอะไรได้บ้างนะครับ ว่า ผมคิดว่าอาจจะมีน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนอยู่จุดหนึ่ง นั่นคือเรื่อง “หนังสือ …. มันเยอะมาก อ่านยังไงไหว อ่านยังไงให้จำ ?” ซึ่งเชื่อว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดแบบนี้ ทั้งการทำงาน การเรียน ก็คงจำเป็นที่ต้องทำงาน หรือเรียนจากที่บ้านกันนะครับ เลยคิดว่าเผื่อมีคนสนใจเรื่องนี้ อาจเป็นน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ที่แวะเข้ามาชมเว็ปไซต์ของ AFM นี้ จะได้เห็นและถือเป็นการแลกเปลี่ยนไอเดียให้กัน ได้บ้างนะครับ 

#จะมีเทคนิคอะไรบ้าง ลองตามมาดูได้เลยครับ

1. ทำแผนผังความคิด

                คือการที่นำเนื้อหาทั้งหมดมากลั่นเป็นหัวข้อต่างๆ และวาดออกมาเป็นรูปภาพ ให้มีลักษณะความเชื่อมโยงกัน หรือให้อยู่ในแผนผังความคิดเดียวกัน แต่แน่นอนว่าเนื้อหาอาจมีเยอะมากจนแผนผังความคิดคงทำไว้ในแผ่นเดียวไม่หมด อาจจะต้องมีการทำมากกว่านั้นไปบ้าง (แต่หากสามารถลำดับความคิดได้เองโดยไม่ต้องวาดรูป ก็อาจจะลองใช้วิธีนั้นดูได้ตามความถนัดนะครับ สำคัญคือ เราเข้าใจ และจำได้ถึงเนื้อหาสาระทั้งหมดของวิชานั้น ๆ ไหมครับ)

                วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำให้เราเห็น “ภาพรวม” เพราะการสอบคงไม่ได้ออกข้อสอบแค่เพียงจุดเล็ก ๆ หรือแค่บางจุดไม่กี่จุด แต่โดยปกติเชื่อว่า ข้อสอบไม่ว่าวิชาใด ๆ ก็ตาม สามารถที่จะออกได้ทั้งหมดของเนื้อหาในวิชานั้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมอง “ภาพรวม” ให้ได้ด้วย จะได้ทำให้เราเก็บประเด็นเนื้อหาครบถ้วน และไม่สับสนในเนื้อหาแต่ละจุด ไม่นำประเด็นต่างๆ มาปะปนกันจนสับสน

                นอกจากนี้ การทำแผนผังความคิดยังทำให้เราเห็นประเด็นต่างๆ ของเนื้อหา ซึ่งประเด็นต่างๆ นั้นเราสามารถจดจำแล้วใช้เป็นเหมือน “คีย์เวิร์ด” ในการจดจำได้ง่ายด้วย ส่วนตัวผมเชื่อว่า เรามักจะจดจำกันจากคีย์เวิร์ดซึ่งเสมือนเป็นจุดเกาะเกี่ยวทั้งหมด เช่น ถ้าเรานึกถึงคีย์เวิร์ดใดได้ เราก็จะสามารถนำคีย์เวิร์ดนั้นมาขยายให้มีรายละเอียดมากขึ้นได้ แต่หากเราจำคีย์เวิร์ดไม่ได้ เราก็อาจจะนึกถึงเนื้อหาต่าง ๆ ไม่ออก ไม่ครบถ้วนก็ได้ครับ

2. ทำสรุปเนื้อหา

                ให้เราลองคิดตามแบบนี้ครับว่า จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้กำลังอยากจะจำข้อความ ถ้อยคำ หรือตัวอักษรเป็นตัว ๆ กันหรอกครับ แต่เราอ่านหนังสือ หรือแม้กระทั่งนั่งฟังบรรยายจากท่านอาจารย์ ก็เพื่อจะ “เข้าให้ถึงใจความ เนื้อหาสาระที่อยู่เบื้องหลังตัวอักษรที่อ่าน หรือคำบรรยายที่ได้รับฟัง” ต่างหาก  ดังนั้น การสรุปเนื้อหาด้วยภาษาของเราเอง ภายหลังจากที่ทำความเข้าใจเนื้อหานั้นแล้ว ก็จะทำให้เราสามารถใช้ “ตัวอักษรสั้นๆ” แต่ “เก็บได้ใจความ” เหมือนกับข้อความยาว ๆ ในหนังสือก็ได้ครับ 

                อีกอย่างหนึ่งคือ การที่เราอยู่กับสิ่งใดบ่อย ๆ ก็จะช่วยทำให้เราจำได้ง่ายขึ้น มากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นชัดว่า การทำสรุป คือเราจำเป็นต้องอ่านหนังสือก่อน ทำความเข้าใจก่อน แล้วยังมีการจดบันทึกความเข้าใจของตนเองลงไปในสมุดอีก ทำให้เราได้อยู่กับเนื้อหาสาระรายวิชานั้นถี่บ่อยขึ้นไปโดยปริยายด้วยครับ

                ขอลองเสริมว่า ผมเคยได้ยินคุณครูของผมท่านหนึ่ง ท่านเคยแนะนำให้นักเรียนทำตามคือ ให้เราอ่านหนังสือจบแล้ว ลองถามตัวเองว่า เรารับรู้อะไรบ้างจากหนังสือในตรงส่วนที่เราอ่านนั้น ซึ่งผมมองว่า ลักษณะนี้ก็ทำให้เราอยู่กับเนื้อหาสาระตรงจุดนั้นบ่อยขึ้นได้เหมือนกัน และผมมองว่าลักษณะนี้ก็คือลักษณะหนึ่งของการ “ทำสรุป” โดยอาจไม่ต้องใช้การจดบันทึกครับ 

3. ทำตารางเปรียบเทียบข้อมูล

                เนื้อหาสาระในบางส่วนอาจทำให้เราสับสนได้ง่ายเหมือนกัน ถ้ามีลักษณะเหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง หรือคล้าย ๆ กันบ้าง เนื้อหาสาระประเภทนี้ทำให้เราอาจจะหลงนำข้อมูลจากจุดหนึ่งไปอยู่อีกจุดหนึ่งแบบผิด ๆ แทนได้  ดังนั้น  เพื่อให้เราไม่หลง ไม่สับสน เห็นความเหมือน ความต่าง ความคล้ายกันได้อย่างชัดเจนของเนื้อหาสาระในส่วนที่มีลักษณะพวกนี้  ผมแนะนำว่าให้ทำตารางเปรียบเทียบข้อมูลในส่วนที่มีลักษณะเหมือน ต่างกัน คล้ายกันนั้นด้วยครับ  เช่น ข้อมูลชุด A. มีลักษณะเหมือนกับข้อมูลชุด B. ตรงส่วนใดบ้าง และแตกต่างกันส่วนใดบ้าง  ทำให้เห็นข้อมูลชัดเจนแบบนี้ไปเลยครับ  จะทำให้เราจำได้แม่นยำขึ้นมากเลยครับ และช่วยให้ป้องกันการตกหล่นประเด็นได้ด้วย ซึ่งช่วยทั้งเรื่องความสับสน และทำให้จำได้ดีขึ้นด้วยในคราวเดียวเลยครับ

AFM สู้ครับ !

และทั้งหมดนี้ก็คือเทคนิคส่วนตัวของผมเองนะครับ ซึ่งลองพิจารณาและนำไปปรับใช้กันได้ดูนะครับ เผื่อจะช่วยให้แก้ปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือ หรือการเรียนได้นะครับ สำหรับวัยเรียน วัยรุ่น หรือแม้กระทั่งวัยทำงานที่กำลังเรียนต่อ แล้วอาจจะประสบปัญหาอยู่บ้าง ผมก็ขอช่วยเหลือในแง่มุมนี้ผ่านทางเว็ปไซต์ AFM แห่งนี้นะครับ  

                #แต่ถ้าหิวขึ้นมาแล้ว ลองแวะหาซื้อสินค้าจาก AFM ไปทานกันได้นะครับ  

บทความโดย : ทศพล รอบจังหวัด

ติดต่อสอบถามบริษัท

หรือ คลิก เพื่อสอบถามได้ทันที